((( มิ ต ร ภ า พ )))

((( มิ ต ร ภ า พ )))

มีคำกล่าวใน 'ชาดก' ว่า
มิตรภาพย่อมจืดจางเร็วเพราะเหตุ ๓ อย่างคือ
๑. คลุกคลีกันมากเกินไป
๒. เหินห่างกันมากเกินไป
๓. ขอในกาลที่ไม่ควรขอ
(อจฺจาภิกฺขณสํสคฺคา อสโมสรเณน จ
เอเตน มิตฺตา ชีรนฺติ อกาเล ยาจนาย จ)

มิตรภาพเป็นสิ่งสำคัญในหมู่มนุษย์และสัตว์โลกทั้งหลาย
มิตรภาพเกิดขึ้นได้ในครอบครัว ในหมู่ญาติ และในชนทั่วไป
การเกิดขึ้นแห่งมิตรภาพง่ายกว่าการรักษามิตรภาพ
การรักษามิตรภาพเป็นของยาก
เพราะมีเหตุมากมายที่ทำให้มิตรภาพเสื่อมลง
หรือถึงกับแตกหัก กลายเป็นศัตรูกันก็มี
แม้ในสามีภรรยาซึ่งเป็นมิตรที่สนิทที่สุด
ก็สามารถแตกร้าวแตกหักเป็นศัตรูกันก็มีบ่อยๆ
ระหว่างพ่อแม่กับลูกก็มีได้
จะกล่าวไยถึงในหมู่ญาติและชุมชนทั่วไป

ในสุภาษิตข้างต้นนี้กล่าวถึงเหตุ ๓ อย่าง
ที่ทำให้มิตรภาพจืดจางต่อกันคือ

คลุกคลีกันมากเกินไป คนที่คลุกคลีกันมากเกินไปนั้น
อาจทำให้หมดความเกรงใจซึ่งกันและกัน
อยากทำอะไรก็ทำ อยากพูดอะไรก็พูด
ขาดความยับยั้งชั่งใจ ทำให้กระทบกระเทือนใจกัน
ถ้าไม่พูดกันให้แจ่มแจ้ง ต่างคนต่างเก็บไว้ภายใน
อาจเป็นเหตุให้มึนตึงต่อกัน ทำให้แตกร้าวในที่สุด

อีกอย่างหนึ่ง
คนเราทุกคนย่อมต้องการเวลาเป็นส่วนตัว มากบ้างน้อยบ้าง เหมือนเป็นธรรมชาติของมนุษย์ที่ต้องการเวลาเป็นส่วนตัว
การคลุกคลีกันมากเกินไปทำให้สูญเสียเวลาเป็นส่วนตัว
ถ้าเราอยู่ในห้องที่มีแมวอยู่ด้วย
เราต้องเปิดประตูไว้ให้มันเข้าออกได้อย่างสะดวกของมัน
มิฉะนั้นมันจะตะกายเรียกทั้งตอนเข้าและตอนออกทำให้รำคาญ บางคนถึงกับเจาะรูที่ข้างฝาไว้เพื่อให้แมวเข้าออกได้สะดวก

มนุษย์เราที่อยู่ร่วมกันก็ทำนองนี้คือ ต้องให้เขามีทางออก
ไม่ใช่ปิดประตูตายถ้าปิดประตูตายจะมีความกดดันมาก
ชีวิตไม่มีความสุข มิตรภาพก็ร่วงโรยเหี่ยวเฉาและสูญสลายไป
การห่างเหินกันเกินไปก็เป็นอีกอย่างหนึ่ง
ที่ทำให้มิตรภาพจืดจาง
ต่างฝ่ายต่างก็รู้สึกว่าไม่ได้รับการเอาใจใส่
ไม่คำนึงถึงสุขทุกข์ของกันและกัน
ประเพณีอวยพรปีใหม่แก่กันจึงยังคงให้สำเร็จประโยชน์
คือ เตือนให้ระลึกถึงกันอยู่ ไม่ห่างเหินจนเกินไป

การขอในกาลที่ไม่ควรขอเช่น
ขอสิ่งของในเวลาที่เขากำลังขาดแคลน
ขอแรงในเวลาที่เขาเจ็บป่วยหมดกำลัง เป็นต้น
การขอผิดกาลทำให้เสียมิตรภาพ
การขอถูกกาลทำให้ได้มิตรภาพ
แม้โดยปกติจะเป็นผู้ให้
การขอบ้างในบางคราวถ้ารู้ว่าเขาเต็มใจให้
ก็เป็นการผูกมิตรเหมือนกัน

อริสโตเติล (นักปราชญ์ชาวกรีก) กล่าวไว้ว่า
“มิตรภาพระหว่างคนดีกับคนดีเป็นมิตรภาพที่สูงส่ง”
ถ้าฝ่ายหนึ่งเปลี่ยนไปในทางไม่ดี ก็ควรช่วยแก้ไข
เมื่อแก้ไขไม่ไหวแล้วจึงค่อยถอนตัวออกมา

พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า
“ถ้าไม่ได้มิตรที่มีปัญญา เป็นคนดี
ก็ควรเที่ยวไปผู้เดียวไม่ควรคบคนพาล
เพราะความเป็นสหายไม่มีในคนพาล”
มิตรที่ดีควรมีลักษณะสำคัญ ๔ อย่างคือ
๑. มีอุปการะ
๒. ร่วมสุขร่วมทุกข์
๓. แนะประโยชน์
๔. มีความรักใคร่
เมื่อได้มิตรเช่นนี้ก็ควรถนอมมิตรให้ดี
เห็นคุณค่าของเขาและปฏิบัติให้สมกับที่เขามีคุณค่า

อ.วศิน อินทสระ